บทความใน Blog นี้ เป็นบทความที่รวบรวมมาจากสาขาวิทยบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จาก Website ต่าง ๆ และจัดทำขึ้นเอง เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า(ต้องขออภัยที่ไม่ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ) คำบรรยายของอาจารย์ทุกท่านอาจจะมีข้อหรือคำผิดพลาด อันเนื่องมาจากการพิมพ์และการตีความของผู้พิมพ์และผู้เรียบเรียงได้ ขอให้ผู้ศึกษาโปรดใช้วิจารณญาณ ขอขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน พร้อมอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และคุณธรรมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตา

3 มิถุนายน 2554

สรุปแนวข้อสอบค่าเสียหายเชิงลงโทษ


จ.อ.นิคม   เภาพาน

หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยรามคำแหง  สาขาอำนาจเจริญ

 


สรุปค่าเสียหายในเชิงลงโทษ

          ค่าเสียหายเชิงลงโทษ  เป็นค่าเสียทางละเมิดประเภทหนึ่งที่แบ่งแยกประเภทตามความมุ่งหมายของการกำหนดค่าเสียหายทางละเมิด อันเกิดจากระบบกฎหมาย civil  law และระบบ common law    โดยแต่ละระบบกฎหมายมีจุดเริ่มต้นของค่าเสียหายทางละเมิดหรือที่มาของค่าเสียหายทางละเมิดที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ

ค่าเสียหายทางละเมิดของระบบ  Civil   law   เกิดจากประมวลกฎหมายแพ่งของโรมันซึ่งตาม ทฤษฎีว่าด้วยหนี้  ( Theory  Of  Obligation) โดยถือว่าหนี้ละเมิดเป็นหนี้ประเภทหนึ่งของหนี้ในทางแพ่งที่คู่กรณีจะต้องมีการชดใช้แก่กัน   ส่วนค่าเสียหายทางละเมิดของระบบ common law  เกิดจากหมายเรียกคดีละเมิด ( Writ  Of  Trespass)   โดยถือว่าการกำหนดค่าเสียหายถือเป็นคดีเฉพาะเรื่อง 

          เมื่อมีที่มาหรือการเกิดของค่าเสียหายทางละเมิดแตกต่างกันทำให้ มีจุดมุ่งหมายของการกำหนดค่าเสียหายต่างกันไปด้วย  กล่าวคือ ระบบ civil law มุ่งหมายให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในทำนองเดียวกับหนี้ตามสัญญา  โดยยึดและกำหนดค่าเสียหายตามความเสียหายที่แท้จริงซึ่งผู้เสียหายได้รับเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหาย  ซึ่งมีเหตุผลเชื่อว่า ผู้เสียหายไม่พึงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าหนี้ที่ผู้ละเมิดมีต่อตน  ส่วนระบบ common law  ไม่ได้ยึดหลักตามทฤษฎีว่าด้วยหนี้ย่างเดียว แต่มีแนวความคิดทางอาญาเจือปนเข้ามาด้วย จึงส่งผลให้นอกจากจะกำหนดให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับแล้ว บางครั้งอาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนที่เป็นการลงโทษผู้ทำละเมิดอีกด้วย

          ค่าเสียหายทางละเมิดแบ่งออกตามความมุ่งหมายของการกำหนดค่าเสียหาย ออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ ค่าเสียหายแบบค่าสินไหมทดแทน (Compensatory Damages) และค่าเสียหายแบบเป็นโทษ (Punitive Damages)

          1.ค่าเสียหายแบบค่าสินไหมทดแทน (Compensatory Damages) เป็นค่าเสียหายในลักษณะ ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ละเมิดจะต้องจ่ายชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย  เพื่อให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนถูกกระทำละเมิดให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีความเสียหายที่ปรากฏในรูปของตัวเงินค่าใช้จ่าย รายได้ที่ขาดไป หรือความเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงิน  ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายแบบนี้เป็นหลักเกณฑ์ของระบบ civil law  ส่วนระบบ common law ถือหลักการผสมคือจะกำหนดค่าเสียหายแบบเป็นโทษตอบแทนแก่ผู้ละเมิดด้วย

          ค่าเสียหายแบบค่าสินไหมทดแทนมีลักษณะสำคัญ คือ

          ก. เป็นการชดใช้ทดแทนความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจริงๆ

          ข. ฝ่ายผู้เสียหายต้องพิสูจน์ความเสียหายที่ตนได้รับให้ปรากฏต่อศาล

          ค. ในระบบกฎหมาย civil  law สามารถผ่อนชำระค่าเสียหายได้เป็นงวดๆ หรือเป็นรายปี  ส่วนระบบ Common  law ต้องชำระคราวเดียว

          2. ค่าเสียหายแบบเป็นโทษ (Punitive Damages)   เป็นค่าเสียหายที่กำหนดให้ผู้ละเมิดต้องใช้แก่ผู้เสียหายเพื่อตอบแทนความรุนแรงแห่งพฤติการณ์ของการกระทำละเมิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลงโทษผู้ละเมิดซึ่งมีพฤติการณ์จงใจไม่นำพาต่อกฎหมายและสิทธิของบุคคลอื่น  การกำหนดค่าเสียหายแบบนี้ เป็นหลักการของ common law โดยเฉพาะ อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนและเพื่อลงโทษผู้ละเมิดควบคู่กัน

          ลักษณะสำคัญของค่าเสียหายแบบเป็นโทษ มีดังนี้

          ก. เป็นค่าเสียหายที่กำหนดลงโทษตอบแทนผู้ละเมิดเพื่อปรามไม่ให้ทำไม่ชอบเช่นนั้นอีก และยังไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างด้วย

          ข. ฝ่ายผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์จำนวนค่าเสียหาย แต่ศาลกำหนดให้ตามความเหมาะสมได้เองโดยพิจารณาจากความร้ายแรงแห่งละเมิด สภาพ และปริมาณความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับเอง กับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ละเมิด

          ค. เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่ชดใช้ทดแทนความเสียหายจริงๆ แต่ในบางคดีอาจไม่ปรากฏความเสียหายจริงที่จะทดแทน ศาลก็จะกำหนดแต่ค่าเสียหายแบบเป็นโทษให้เท่านั้น

          ง. กำหนดให้เฉพาะกรณีละเมิดที่มีพฤติการณ์รุนแรง  มีลักษณะการกระทำเช่นเดียวกับในคดีอาญา เช่น ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ข่มขู่หลอกลวง ฉ้อฉล โดยผู้ละเมิดจงใจให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้เสียหาย หรือมุ่งหมายให้ผู้เสียหายอับอายหรือถูกเหยียดหยาม

          ค่าเสียหายแบบเป็นโทษนี้ในระยะหลังทางคอมมอนลอว์  พยายามหลีกเลี่ยงไม่กำหนด  โดยเฉพาะในอังกฤษ  เห็นได้จากคำพิพากษาคดี Rooks V. Barnard โดยศาลสูงได้วางหลักเกณฑ์ค่าเสียหายแบบเป็นโทษมีได้  3  กรณีเท่านั้น  กล่าวคือ

          ก. คดีที่เจ้าพนักงานของรัฐจงใจทำละเมิดฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ

          ข. คดีที่จำเลยจงใจหวังผลกำไรเป็นจำนวนสูงกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำละเมิดของจำเลย เช่น คดี Cassell Co.Ltd. v Broome, 1972 จำเลยลงพิมพ์ข้อความเท็จมุ่งให้โจทก์เสียหายโดยจำเลยหวังรายได้จากการพิมพ์จำหน่ายเป็นจำนวนสูงกว่าค่าเสียหายที่คาดว่าจะต้องชดใช้แก่โจทก์

          ค. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้จ่ายค่าเสียหายแบบเป็นโทษแก่ผู้เสียหาย

          ส่วนในประเทศไทยนั้นก็ได้มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับค่าเสียหายแบบลงโทษเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทน  เช่น 

          ในพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545  โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 (3) ว่า ในกรณีที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือเจตนากลั่นแกล้ง  เพื่อให้ความลับทางการค้าดังกล่าวสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า  ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากจำนวนที่ศาลกำหนดได้    แต่ต้องไม่เกินสองเท่าของค่าสินไหมทดแทน

          พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551  มาตรา 11   ได้กำหนดค่าเสียหายขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิด คือ  ความเสียหายต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้เสียหาย  ซึ่งหากจะว่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิดอย่างเดียวไม่อาจจะเรียกได้

          ส่วนพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42   ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด  แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท  ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกิน 5 เท่า ของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด

          จากพระราชบัญญัติต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่าได้มีการบัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนของค่าเสียหายที่แท้จริงตามที่ศาลเห็นสมควร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้นการนำเอาหลักเกณฑ์ของค่าเสียหายในเชิงลงโทษที่มีบังคับใช้อยู่ในระบบ Common  law มาบังคับใช้ในกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไทยได้ให้การยอมรับในหลักเกณฑ์ของการกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษแล้วในระดับหนึ่ง

          ค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือที่เรียกว่า  ค่าเสียหายแบบเป็นโทษ เป็นการกำหนดค่าเสียหายในหลักการของระบบ common law  เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนและเพื่อลงโทษผู้ละเมิด  ซึ่งเป็นค่าเสียหายแบบลงโทษที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่ชดใช้ทดแทนความเสียหายจริงๆ  โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรามไม่ให้ทำไม่ชอบเช่นนั้นอีก และยังไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างด้วย โดยที่ฝ่ายผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์จำนวนค่าเสียหาย  ศาลกำหนดให้ตามความเหมาะสม และกำหนดให้เฉพาะกรณีละเมิดที่มีพฤติการณ์รุนแรง  ซึ่งปัจจุบันกฎมายไทยได้ยอมรับนำเอาหลักเกณฑ์ของค่าเสียหายในเชิงลงโทษในระบบ Common  law มาบังคับใช้  ดังจะเห็นได้จากการตรากฎหมายต่างๆ รองรับ เช่น พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 


ปล. เป็นแค่แนวทางในการสอบเท่าครับบ.....
                                                                                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มุมสำหรับเพื่อน ๆ แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน เติมเต็ม ติชม และแซว