บทความใน Blog นี้ เป็นบทความที่รวบรวมมาจากสาขาวิทยบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จาก Website ต่าง ๆ และจัดทำขึ้นเอง เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า(ต้องขออภัยที่ไม่ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ) คำบรรยายของอาจารย์ทุกท่านอาจจะมีข้อหรือคำผิดพลาด อันเนื่องมาจากการพิมพ์และการตีความของผู้พิมพ์และผู้เรียบเรียงได้ ขอให้ผู้ศึกษาโปรดใช้วิจารณญาณ ขอขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน พร้อมอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และคุณธรรมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตา

23 สิงหาคม 2554

แนวทางข้อสอบ วิชา LA 741 (ฉบับพี่ปัญญา)

สรุป เนื้อหาเตรียมสอบรัฐธรรมนูญ อ.พัฒนะ เรือนใจดี
เพื่อใช้ประกอบการตอบข้อสอบในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 เวลา 13.0016.00น.
ขอขอบคุณพี่ปัญญา  ที่จัดส่งข้อมูลให้ครับ

ข้อที่ ๑. มีประเด็นไหนของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ท่านเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภา
ตอบ  หลักการระบบรัฐสภา มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. รัฐบาลจะบริหารงานอยู่ได้ตราบเท่าที่รัฐสภาให้ความไว้วางใจ มาตรา ๑๕๘ , ๑๕๙ , ๑๖๐ , ๑๗๒
๒. รัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก มาตรา ๑๗๑ วรรคสอง
๓. รัฐบาลเป็นสมาชิกรัฐสภา (สวมหมวกสองใบ) มาตรา ๑๗๑ , ๑๗๗ วรรคสอง
๔. รัฐบาลและรัฐสภาต่างมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจซึ่งกันและกันได้ มาตรา ๑๓๕ , ๑๐๘ , ๑๕๖ , ๑๕๗ , ๑๕๘ , ๑๕๙ , ๑๖๐ , ๑๖๑ , ๑๖๒ วรรคหนึ่ง
๕. รัฐบาลและรัฐสภาต่างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ มาตรา ๑๔๕ ๑๔๘ , ๑๕๑ , ๑๖๘ , ๑๘๙ , ๑๙๐

การเมืองระบบรัฐสภาไม่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีความเข้มแข็ง ตามหลักการของระบบรัฐสภาที่ว่ารัฐบาลจะบริหารงานอยู่ได้ตราบเท่าที่รัฐสภาให้ความไว้วางใจ ดังนั้น การที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้โดยง่ายก็จะหมายความว่าประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบรัฐสภา คือ ต้องทำให้เกิดการตรวจสอบได้โดยง่าย ฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มีหลายมาตราที่บัญญัติไว้แล้วทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่เข้มแข็ง จากการศึกษาของข้าพเจ้าที่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เห็นว่ามีประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับระบบรัฐสภาตามมาตราดังต่อไปนี้
๑. มาตรา ๑๗๔ (๖) รัฐมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นซึ่งสิ้นสุดลงมาแล้ว
ยังไม่เกิน ๒ ปี นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เห็นว่า ขัดกับหลักการระบบรัฐสภา ที่ว่า สมาชิกรัฐบาลต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา ข้าพเจ้าเห็นว่า มาตรานี้ ต้องเขียนห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ สส.หรือ สว. เป็นรัฐมนตรี จึงจะถูกต้องและสอดคล้องการเมืองระบบรัฐสภา จะดีกว่าเดิมและสอดคล้องกับระบบรัฐสภาหากเขียนว่า รัฐมนตรีต้องมาจาก สส. หรือ สว. เท่านั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้เป็นการเขียนกฏหมายตามข้อเท็จจริงว่าถ้ารัฐมนตรีมาจาก สส. โดยก็จะมีการซื้อเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อมาเป็น สส. และได้รับแต่งตั้งมาเป็นรัฐมนตรีก็จะเกิดการถอนทุนคืน ทุจริตคอรัปชั่น จึงแก้รัฐธรรมนูญเป็นห้ามสวมหมวกสองใบคือรัฐมนตรีไม่ใช่ สส. เพื่อแก้ปัญหาการถอนทุนคืน การนำข้อเท็จจริงมาเขียนเช่นนี้ก่อให้เกิดวิกฤตของรัฐธรรมนูญ

๒. มาตรา ๑๕๘ กับ มาตรา ๑๕๙ ข้าพเจ้าเห็นว่า ต้องปรับหลายอย่าง สองมาตรานี้ดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ตรงที่ในแง่จำนวนตัวเลข แต่ไม่ดีและไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภาตรงที่มีการกำหนดให้เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ดีที่ในเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจห้ามยุบสภาหนี ซึ่งการยุบสภาเป็นเครื่องมือในการโต้ตอบฝ่ายบริหาร ซึ่งอาวุธของฝ่ายนิติบัญญัติมี กระทู้ ญัตติ กรรมาธิการ อภิปราย ถอดถอน และอาวุธฝ่ายบริหารมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และการออกพระราชกำหนด อันเป็นการเขียนที่ไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภาเพราะเป็นการทำลาย COLLECTIVE RESPONSIBILITY และการยุบสภาตาม มาตรา ๑๐๘ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบรัฐสภาควรออกแบบกำหนดให้การยุบสภานั้นทำได้โดยง่าย
๓. มาตรา ๑๗๖ เรื่องการแถลงนโยบาย มันจะต้องมีการลงคะแนน มีเพียงรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ที่การแถลงนโยบายบังคับให้ลงคะแนนแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย เห็นว่า มาตรา ๑๗๖ ควรกำหนดให้มีการลงคะแนนเสียง วิธีการที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สภาก็ต้องให้มีการแถลงนโยบายและมีการลงคะแนนด้วย
๔. มาตรา ๑๒๙ , มาตรา ๑๖๑ , มาตรา ๑๗๙ ว่าด้วย การอภิปรายทั่วไปทั้งของ สส. ของ
สว.  ข้าพเจ้า เห็นว่า สามมาตรานี้ ถ้าเราต้องการเสริมสร้างการทำงานให้สภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ทำให้สภานิติบัญญัติได้มีอำนาจมากขึ้น เราต้องออกแบบสภานิติบัญญัติให้สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ยิ่งมากยิ่งดี กระทู้ต้องบังคับให้มาตอบ ญัตติอย่าอาศัยเครื่องมือของประธานสภาโยกไปโยกมาไม่บรรจุให้เขา กรรมาธิการต้องลงโทษข้าราชการได้ อภิปรายไม่ไว้วางใจต้องลดจำนวนเสียงลง การถอดถอนไม่ต้องใส่กระบอกกรองไปกรองมาที่ไปผ่าน ปปช. ผ่านอัยการสูงสุด วุฒิสภาต้องเสนองานได้เลย นี่คือมาตรการเสริมสร้างสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ถ้าเราบอกว่าสภานิติบัญญัติเป็นหัวใจของระบบรัฐสภา เราก็ต้องเสริมสร้างการทำงานให้สภานิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติตรวจสอบไม่ได้ เราอุปมาว่าสภานิติบัญญัติเป็นลูกน้องของรัฐบาล สภานิติบัญญัติที่ไหนมันก็เป็นลูกน้องของรัฐบาลเพราะรัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก เว้นแต่ การตรวจสอบในสภามันไม่ใช่ศาล มันเป็นการตรวจสอบกันทางการเมือง เพราะฉะนั้น ต้องเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย คือต้องทำให้มีดที่มันไม่คมให้คม มีดที่เรียกว่ากระทู้ ญัตติ กรรมาธิการ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ถอดถอน
                สรุป มีดของฝ่ายนิติบัญญัติที่มันไม่คมแล้วจะไปหั่นมะเขือเทศเข้าได้อย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่ามีดที่มันไม่คมแล้วไปตามเอาฆ้อน ตามเลื่อย มาหั่นมะเขือเทศแล้วมะเขือเทศมันก็เละ ค้อนมันออกแบบไว้ทุบ เลื่อยออกแบบเอาไว้เลื่อยไม่ใช่หั่นแล้วจะเอามาหั่นมะเขือเทศให้ไม่เละได้ยังไง เทียบกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่เอาศาลรัฐธรรมนูญ เอาศาลปกครอง องค์กรอิสระมาเล่นงานรัฐบาลแทนฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นการไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภา
เพราะฉะนั้น มาตรา ๑๗๖ การแถลงนโยบายก็ต้องให้มีการลงคะแนนและจะสอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภาตามหลักการระบบรัฐสภาที่ว่า รัฐบาลและรัฐสภามีส่วนร่วมกันในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ
                มาตรา ๑๒๙ , ๑๖๑ , ๑๗๙ ถ้าต้องการให้สามารถเพิ่มหรือเสริมสร้างการทำงานของสภานิติบัญญัติ ก็ต้องให้มีการลงคะแนนได้ด้วย หมายความว่า การอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาก็ให้ลงคะแนนได้
                การให้วุฒิสภาอภิปรายทั่วไปก็ไม่เสียหายอย่างน้อยก็กดดันรัฐบาลได้ ( แต่ไม่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของรัฐบาลเพราะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นเรื่องของ สส.) การอภิปรายทั่วไปของ สว. ไม่สอดคล้องกับระบบรัฐสภา ก็คือ ไม่รู้ว่า สว. มีความคิดเห็นอย่างไรเพราะไม่มีการลงมติ เพราะฉะนั้น ในความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า การอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาที่ไม่มีการลงคะแนนนั้นต้องเขียนเป็นว่าต้องมีการลงคะแนน แต่การลงคะแนนของ สว.นั้นต้องไม่ผลกับการอยู่หรือการไปของรัฐบาล เนื่องจาก สว.ยังมีบางส่วนมาจากการสรรหา ซึ่งถ้าให้คนที่มาจากการสรรหามาตรวจสอบคนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ถูกต้องเพราะที่มาต้องผูกกับอำนาจ เพราะถ้ามีการลงคะแนนของ สว. แล้วเป็นการเสริมสร้างการทำงานให้สภานิติบัญญัติ คือ ทำให้สภานิติบัญญัติเข้มข้นขึ้น แต่แน่นอนที่สุดถ้า สว. มาจากการแต่งตั้งให้คนมาจากการแต่งตั้งไปอภิปรายคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้ ควรจะเปลี่ยนที่มาของ สว. จำนวน ๑๕๐ คนเป็นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดด้วย
                ๕. มาตรา ๒๓๑ , ๒๔๖ , ๒๔๓ , ๒๐๖ , ๒๕๒ ทั้งหมดเป็นมาตราที่พูดถึงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ข้าพเจ้าเห็นว่า มีองค์ประกอบไม่ถูกต้อง และมีพวกศาลเข้าไปเกี่ยวข้องมากส่งผลให้มีการตัดตัวแทนพรรคการเมืองออกไป การตัดตัวแทนพรรคการเมืองเท่ากับเป็นการตัดสะพานเชื่อมระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหานั้นควรมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปด้วย แต่ตามมาตรา ๒๓๑ , ๒๔๖ , ๒๔๓ , ๒๐๖ , ๒๕๒ ไม่มีตัวแทนพรรคการเมือง องค์ประกอบของคณะกรรมการเหล่านี้เห็นว่ามีองค์ประกอบที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้เรื่อง ไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภาเป็นการทำลายระบบรัฐสภา
                ๖. มาตรา ๑๐๘ มีความบกพร่องเพราะทำให้การยุบสภาทำได้ยาก กล่าวคือ กว่าจะมีการยุบสภาได้นั้นมีรายละเอียดเยอะแยะยุ่งยาก ดังนั้น กรณีนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญร่างออกมาไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภา ซึ่งการยุบสภาเป็นมาตรการที่ฝ่ายบริหารมีเอาไว้ตอบโต้ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามหลักการรัฐสภาที่ เห็นได้ว่าในประเทศอังกฤษนั้นไม่ถึงการอภิปรายถึงเพียงขั้นกระทู้ ญัตติ ในการถามกระทู้นั้น เขาก็มีการตอบก่อนที่จะเข้าในสภา ถ้าเขาตอบไม่ได้ก็ลาออกไปเองไม่ได้มีการอภิปราย สิ่งเหล่านี้ เรียกว่า มาตรฐานทางด้านจริยธรรม ในอังกฤษไม่ได้ใช้การยุบสภาเป็นการตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เขาใช้การยุบสภาในเวลาเสียงรัฐบาลนั้นดี กล่าวคือ รัฐบาลกำลังได้รับความนิยมอย่างเต็มที่ ก็มีการยุบสภาและรัฐบาลก็ได้รับกลับมาเป็นรัฐบาล
               
๗. มาตรา ๑๖๒ การเขียนให้อิสระของผู้แทนราษฎรสำคัญกว่ามติพรรคนั้น ข้าพเจ้า
เห็นว่าไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภา เพราะหัวใจของระบบรัฐสภาคือ พรรคการเมือง พรรคการเมืองคือยานพาหนะของผู้แทนราษฎรในการเข้าสู่อำนาจรัฐหรือเข้าสู่สภา
                ๘. มาตรา ๑๗๗(๒) การห้ามรัฐมนตรีที่เป็น สส. ลงคะแนนในเวลาที่มีการอภิปรายไม่
ไว้วางใจ ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับการเมืองระบบรัฐสภา กับหลักการที่ว่า สมาชิกรัฐบาลเป็นสมาชิกรัฐสภา กล่าวคือ รัฐบาลสวมหมวกสองใบ รัฐมนตรีก็เป็น สส. เหมือนกันควรให้มีการลงคะแนนด้วย แต่การที่รัฐมนตรีคนนั้นจะไม่ลงคะแนนในเรื่องที่ตนเกี่ยวข้องนั้นก็เป็นเรื่องของมารยาททางการเมืองอีกส่วนหนึ่งต่างหากประเด็นใน พรบ. พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ไม่สอดคล้องกับระบบรัฐสภา
                ๑. ประเด็นในมาตรา ๙๙ ของ พรบ.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ห้ามรวมพรรคการเมือง
ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การรวมพรรคการเมืองเป็นการทำลายระบบรัฐสภา กล่าวคือ ไม่ควรมีบทบัญญัติรวมพรรคการเมือง หัวใจของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง หัวใจของการเลือกตั้งคือพรรคการเมือง พรรคการเมืองคือยานพาหนะของผู้แทนราษฎรในการเข้าสู่อำนาจรัฐ มาตรา ๙๙ เขียนดีแล้วแต่จะดีกว่านี้หากเขียนว่าห้ามรวมพรรคตลอดไปไม่ใช่แค่ระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร (ดูคู่กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๔ บัญญัติห้ามรวมพรรคหลังเลือกตั้ง)
                ๒. ประเด็นในมาตรา ๙๑ , ๙๒ , ๙๓ , ๙๔ (ดูประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๒๓๗ , ๖๘) ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยุบพรรคการเมืองได้ ตามมาตรา ๒๓๗ , ๖๘ ประกอบพรบ.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๑ , ๙๒ , ๙๓ , ๙๔ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๘ ประเด็นอันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยการการเมืองระบบรัฐสภาที่มีบทบัญญัติให้มีการยุบพรรคการเมืองอันเป็นหัวใจของระบบรัฐสภามากมายขนาดนี้ ซึ่งเป็นการทำลายระบบรัฐสภา จริงๆแล้วพรรคการเมืองต้องเป็นสถาบัน คนไม่ดีคนทุจริตเลือกตั้งควรติดคุก ควรรับโทษไปแต่พรรคต้องอยู่เหมือนเดิม ใครทุจริตเลือกตั้ง ใครรับคนต่างด้าวเข้าพรรค ใครรับเงินสกปรกก็ต้องรับโทษเฉพาะคนนั้นไม่เกี่ยวกับพรรค การบัญญัติให้ยุบพรรคมาถึง ๑๘ ประเด็นนี้เป็นการทำลายการเมืองระบบรัฐสภา
                ๓. มาตรา ๔๓ ของพรบ.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ว่า ห้ามกรรมการบริหารพรรคและเจ้าหน้าที่พรรคช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาอันจะเป็นเหตุนำมาสู่การยุบพรรคตามมาตรา ๙๔(๕) พรบ.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้าพเจ้าเห็นว่า พรรคการเมืองต้องคงอยู่แต่ใครทำผิดก็ลงโทษคนนั้นเป็นการเฉพาะตัวไปในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแล้วแต่กรณี เหตุนี้ทำให้พรรคถูกยุบง่ายเกินไปอันเป็นการทำลายระบบรัฐสภา เพราะอาจเกิดจากการถูกพรรคอื่นกลั่นแกล้งก็ได้

ข้อที่ ๒.  การขยายอำนาจของศาลมีผลกระทบหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างไร?
การตอบ ๑. แสดงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
แนวคำตอบ ประเด็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๔๑ ที่นำศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายก่อนที่จะมีการประกาศใช้ นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ขัดกับหลักการปกครองระบบรัฐสภา ที่มีสภาเป็นใหญ่
อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๖๕ , ๙๑ , ๑๓๙ , ๑๔๒ , ๑๔๙ , ๑๖๘ , ๑๘๒ , ๑๘๔ , ๑๘๕ , ๑๙๐ , ๒๑๔ รวมทั้งกรณีมาตรา ๒๖๗ (เช่นกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการวินิจฉัยว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับเอกชนในลักษณะเอื้อประโยชน์กับแบบนายจ้าง ลูกจ้าง มิใช่ผู้รับจ้าง โดยตีความตามพจนานุกรม) อำนาจดังกล่าวนี้ไม่มีปรากฏในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญของในกรณีประเทศเยอรมนีและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสแต่อย่างใดไม่
ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีหลักความสูงสุดของของรัฐธรรมนูญ มีเพียง พรบ. เพราะ พรบ. คือกฎหมายออกจากสภา
ดังนั้น เราอย่าไปแปลความว่า ตุลาการภิวัฒน์ คือ การขยายอำนาจศาลเพราะว่ามันเกินไป ตุลาการภิวัฒน์ คือ การตรวจสอบของศาลสูงตรวจสอบศาลล่าง แต่ไม่ใช่การขยายอำนาจ ซึ่งการตรวจสอบศาลสูงตรวจสอบศาลล่างนี้มีในกฎหมาย COMMON LAW ระบบกฎหมายในโลกมี
๒ ระบบ คือ COMMON LAW กับ CIVILL LAW เรานำระบบที่มีในกฎหมายอื่นมาใส่ในระบบการเมือง หมายความว่า การนำ JUDICIAL REVIEW ซึ่งอยู่ในระบบ COMMON LAW มาใส่ในระบบรัฐสภา มันก่อให้เกิดวิกฤตของรัฐธรรมนูญ
                บัดนี้ การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราเอาอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติมาตรวจสอบอำนาจบริหาร ซึ่งรัฐบาลจะบริหารงานอยู่ได้ตราบเท่าที่รัฐสภาให้ความไว้วางใจ เห็นได้ว่า ต้องรัฐสภาเท่านั้นจะเป็นอย่างอื่นหรืออำนาจอื่นไม่ได้ รัฐสภาคือฝ่ายค้าน ประเทศอังกฤษไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีศาลปกครอง การมีศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองไม่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาเลย
                ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพียงคอยควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่บัดนี้ เราให้อำนาจกับศาลมากขึ้น และ การขยายอำนาจของศาลแบบนี้มันกระทบกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ
การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ รัฐบาลจะบริหารงานอยู่ได้ตราบเท่าที่รัฐสภาให้ความไว้วางใจ ดังนั้น การควบคุมอำนาจรัฐของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาก็คือ สภา
                สภาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่สำคัญของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา (แล้วศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน ศาลปกครองมาจากไหน อาจารย์เห็นว่าการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ)
มาตรา ๑๘๔ การตราพระราชกำหนดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการชอบด้วยกฎหมายของการตราพระราชกำหนด เห็นได้ว่า พระราชกำหนดเป็นการตราออกมาเพื่อป้องปัดภัยพิบัติยามฉุกเฉิน จำเป็น แบบนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยการตราก่อน มันกระทบต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งอำนาจแบ่งเป็น ๓ อำนาจได้แก่
                ๑. อำนาจนิติบัญญัติ
๒. อำนาจบริหาร
๓. อำนาจตุลาการ
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระไม่ได้อยู่ในอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจตุลาการตาม
หลักการแบ่งแยกอำนาจ ได้แก่ ศาลยุติธรรม อำนาจศาลรัฐธรรมนูญปรากฏในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พรบ.พรรคการเมือง พรบ.กกต. การเอาอำนาจอำนาจของศาลไปขี่ฝ่ายบริหารเห็นว่ามันผิด
                หมายเหตุ ประเทศอังกฤษใช้ระบบรัฐสภาแต่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีศาลปกครองและก็เป็นประเทศที่เจริญ
                ๔. ระบบการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ คืออะไร มีอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบถึงความเหมาะสมแห่งการบัญญัติเช่นนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับระบบฯ ดังกล่าวของนานาอารยะประเทศ
                ตอบ ประเทศไทยเรามีระบบการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้บัญญัติให้ประเทศไทยมีศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จากปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงปัจจุบัน เราเปลี่ยนจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นศาลรัฐธรรมนูญ (ชื่อนั้นสำคัญไฉน) ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ข้อแตกต่างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกับศาลรัฐธรรมนูญ
                คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นคณะบุคคลที่ทำหน้าที่ในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือ ตัวคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องที่มา องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับที่มา คือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มานั่งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (สส.มารุต บุญนาค พรรคประชาธิปัตย์ นั่งเป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็มีคนวิจารณ์ว่ามีแต่คดีนักการเมืองทั้งนั้นแล้วเอานักการเมืองมานั่งเป็นผู้พิพากษา ดูแล้วไม่เหมาะสม) ปัญหาข้อเท็จจริง คือ หาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังอยู่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ แต่หากมีการยุบสภาแล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ถูกยุบด้วย ถ้าได้ สส.มาใหม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มาใหม่อีก การทำงานก็ไม่ต่อเนื่อง มองคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทางการเมือง นี่คือเหตุผลที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ)
เปลี่ยนเรื่องที่มา เปลี่ยนเรื่องไม่เอาวาระไปผูกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิพากษา แล้วให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นคนเลือก กลายเป็นว่าไม่เกี่ยวกับสมาชิกผู้แทนราษฎรแล้ว
                ในการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญมี ๒ ระบบ
ในประเทศฝรั่งเศส ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แปลว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเลียนแบบฝรั่งเศส ก่อนหน้า ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ไทยใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เหมือนฝรั่งเศส แต่หลัง พ.ศ. ๒๕๔๐ ไทยใช้ศาลรัฐธรรมนูญ
ฝรั่งเศสไม่มีศาลเลือกตั้ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง สส. , สว. , ประธานาธิบดี (เหมือน กกต. ของประเทศไทย) แต่หน้าที่หลักของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ ควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ในประเทศเยอรมนี ด้วยเหตุที่ประเทศเป็นรัฐรวม (ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว กล่าวคือ เป็นราชอาณาจักร) ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันมีศาลเลือกตั้ง แต่หน้าที่หลักๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ
อันเนื่องมาจากคำว่า ตุลาการภิวัฒน์ที่พูดกันว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ เวลาที่ฝ่านิติบัญญัติขัดกับฝ่ายบริหารต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นการพูดที่ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เนื่องจากระบบรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนชี้ ควบคุมฝ่ายบริหาร แต่ปัจจุบันพูดว่า นิติ ขัดกับ บริหาร ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน
                การใส่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นการใส่อำนาจมากไปกว่าการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงคอยควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญอย่างในฝรั่งเศสกับเยอรมัน ตัวอย่างเช่น มาตรา ๑๙๐ ประเด็นที่ฝ่ายบริหารจะทำอะไรก็ต้องขอสภา มิฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็เล่นงาน หรือกรณีมาตรา ๑๘๕ ที่การออกพระราชกำหนดกู้เงิน สี่แสนล้าน โครงการไทยเข้มแข็ง ของรัฐบาล ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการตราพระราชกำหนด (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่มีระบุไว้ ของประเทศเยอรมันก็ไม่มี)
                ในระบบรัฐสภามีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารเท่านั้น ถ้าเราใส่อำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ มากกว่า นานาประเทศที่เขาเป็นกัน เมื่อฝรั่งเศสเป็นต้นแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อเยอรมัน เป็นต้นแบบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้ง ๒ ประเทศดังกล่าวนั้น ไม่มีการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๙๐ , ๑๘๕ , ๒๓๗ , ๖๘ , ๒๖๗ เหมือนของไทย มีเพียงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ
                คำว่า ตุลาการภิวัฒน์หากแปลความว่า การแปลความกฎหมายเพื่อขยายอำนาจศาลออกไป เป็นอันตรายที่สุด ในความเห็นของข้าพเจ้า คำว่า ตุลาการภิวัฒน์แปลว่าการตีความกฎหมายของศาลเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ (มีในประเทศ COMMON LAW) ประเทศไทยใช้ระบบ CIVILL LAW แต่ไปเอาสิ่งที่มีในระบบกฎหมาย COMMON LAW มาใช้ ก่อให้เกิดวิกฤตของรัฐธรรมนูญ
                ข้าพเจ้า เห็นว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ ไม่ถูกต้อง ที่มีศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่สรรหาบุคคลแล้วส่งให้วุฒิสภาเลือก การมีศาลเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น มีตัวแทนจากศาลยุติธรรม มีตัวแทนจากศาลปกครอง เพราะฉะนั้น สเปกหรือคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาไม่ได้ถ่วงดุลอำนาจกันอย่างแท้จริง ถ้าให้มีนักการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วยเห็นว่าจะถูกต้องมากกว่า เพราะการมีตัวแทนนักการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหาไม่เสียหาย การตัดตัวแทนนักการเมืองออกไป เท่ากับตัดประชาชนออกไป
                สรุป ถ้าองค์ประกอบและสัดส่วนจำนวนของคณะกรรมการสรรหาไม่ถูกต้อง ส่งให้วุฒิสภาเลือก (ความเห็นข้าพเจ้า สมาชิกวุฒิสภา ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง แล้วให้คนที่มาจากการแต่งตั้งเลือก)
                บัดนี้ ล่วงเลยมาเป็นเวลา ๑๔ ปีแล้ว เรายังไม่มีพรบ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ (แต่เราไปใช้ข้อกำหนด กล่าวคือ ศาลคุยกันเอง) การมีวิธีพิจารณาความจะเป็นหลักประกันแก่ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญด้วย จะได้ไม่ถูกประชาชนวิจารณ์ว่าตัดสินเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คดีรัฐธรรมนูญเป็นคดีทางการเมือง กระทบกับประชาชนและเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ข้าพเจ้าจึงอยากให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

ปัญหาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ
๑. อำนาจมากเกินไป ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ
๒. ที่มาของคณะกรรมการสรรหา
๓. วิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้พิพากษา
ปัญหาทั้ง ๓ ประการ นั้น เป็นเรื่องสำคัญซึ่งไม่มีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงว่าประเทศไทยมีระบบการควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ประเทศใดมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดจะออกมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ประเทศนั้นก็จะมีศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อที่ ๓. ข้อสอบไล่ สส. จาก ๔๐๐ เปลี่ยนเป็น ๓๗๕ และจาก ๘๐ เป็น ๑๒๕ เกิดผลอะไรขึ้น
ตอบ  ที่มาของ สส. มาตรา ๙๓ ๙๘ จริงอยู่กฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขแล้ว โดยเปลี่ยนที่มาของ สส. ว่า สส. เขต มี ๔๐๐ ลดลงมาเหลือ ๓๗๕ จำนวน สส. ลดลงมาแล้วเกิดอะไรขึ้นนั้น
ข้าพเจ้าเห็นว่า จำนวนสส. แบบแบ่งเขตลดลงมาแต่วิธีการแบ่งเขตมันดีขึ้น การแบ่งเขตเรียงเบอร์นั้นไม่สอดคล้องกับพื้นฐานประชาธิปไตย บัดนี้ เขาเปลี่ยนใหม่เป็นเขตเดียวคนเดียว (ความจริงไม่ได้เปลี่ยนใหม่แต่เปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิมเหมือนปี ๒๕๔๐) ซึ่งถือว่า คน
๑ คน ต้องมี ๑ เสียง ไม่ใช่ ๑ คน มี ๓ เสียง เพราะอยู่จังหวัดใหญ่ (ONE MAN ONE VOTE) มีวงกลมในประเทศไทย ๓๗๕ วง คือ ๓๗๕ เขต ถือว่า ดีขึ้น
                แต่ดันลดจำนวนผู้แทนเขตลง จาก ๔๐๐ เหลือ ๓๗๕ คน ประเทศอังกฤษไม่มีปาร์ตี้ LIST มีแต่ สส. เขต ไม่มี สส. LIST ของเราเพิ่มจำนวน LIST ขึ้นแต่ลดจำนวน สส. เขต จาก ๔๐๐ เหลือ ๓๗๕ คน มันทำให้พรรคเล็กลำบาก ซึ่งพรรคเล็กๆ เนี่ยมันเป็นหัวใจของระบบรัฐสภา เพราะการเมืองระบบรัฐสภาให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง การมีพรรคการเมืองมากๆ คือ หัวใจของระบบรัฐสภา (หยุดหลอกประชาชนเถอะ ฯพณฯ ท่านว่าเหลือ ๒ พรรค แล้วประเทศจะเจริญขึ้น ในอังกฤษ ในอเมริกา ก็มีหลายพรรค)
                เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองยิ่งมีมากยิ่งสะท้อนความคิดเจตจำนงของประชาชน การเปลี่ยนจาก ๔๐๐ เหลือ ๓๗๕ คน พรรคเล็กๆ โอกาสได้ที่นั่งก็น้อยลง เขตละคน คนละเขต แบบนี้ถูกต้องแล้ว ONE MAN ONE VOTE ถูกต้องแล้ว ๑ คน ๑ เสียง ถูกต้องแล้ว
                แต่ผู้แทนเขตมีจำนวนน้อย แต่ขยาย LIST ออกไปจาก ๘๐ เป็น ๑๒๕ ผลคือ มันไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเล็กๆ ไม่มีใครกาบัตรใหญ่ให้พรรคเล็ก (ซึ่งอาจารย์ขอย้ำว่า ประเทศอังกฤษไม่มี PARTY LIST ครับ มีแต่ สส.เขต) การที่มี สส.ปาร์ตี้ลิสเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลเสียกับพรรคเล็กเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากโอกาสที่พรรคเล็กจะมีโอกาสได้ สส.แบบปาร์ตี้ลิสนั้นเป็นเรื่องยากอีกทั้งยังมีข้อกำหนดที่ว่าถ้าคะแนนปาร์ตี้ลิสไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์จะไม่นำมาคำนวนเป็นจำนวน สส.ได้ ซึ่งควรจะเปลี่ยนเป็นว่าไม่ว่าได้คะแนนเสียงร้อยละเท่าใดจะเป็นร้อยละ 1 , 2 ก็ต้องนำมาคำนวนเป็นจำนวนสส. ได้ด้วย ไม่ใช่ตัดทิ้งแล้วนำไปเฉลี่ยให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงมากอยู่แล้ว
สรุป ที่มาของ สส. ที่มาของ สว. ไม่เกี่ยวกับระบบรัฐสภา แต่เกี่ยวกับพื้นฐานประชาธิปไตย (หลักระบบรัฐสภา ๕ ข้อ ไม่มีที่มาของ สส. และ สว. เลย) ดังนั้น แม้อังกฤษไม่มี PARTY LIST แล้วไทยมี LIST เหมือนเยอรมัน ญี่ปุ่น ก็ไม่เสียหาย อังกฤษเขาไม่มีก็เรื่องของเขา ก่อนหน้าปี ๒๕๔๐ เราก็ไม่มี เราเพิ่งรู้จัก LIST ปี ๒๕๔๐
                การมี LIST เหมาะสมกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ LIST ทำลายพรรคเล็กเพราะเราไม่มีใครเข้าไปกาบัตรใหญ่ให้พรรคเล็ก พรรคเล็กไม่ได้คะแนน การเพิ่มจำนวนจาก ๘๐ เป็น ๑๒๕ พรรคใหญ่ๆ ก็มีโอกาสได้ LIST มากขึ้น ที่จริงแล้ว LIST เกิดมาด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑. คะแนนจะเสียเปล่า สมมติมีคนลงสมัคร ๓ คน ถ้าเบอร์ ๑ ได้ ๕๐,๐๐๐ คะแนน เบอร์ ๒. ได้ ๔๐,๐๐๐ คะแนน เบอร์๓. ได้ ๑๐,๐๐๐ คะแนน ใครได้เป็น สส. ตอบว่า เบอร์ ๑ เบอร์ ๑. เห็นได้ว่าไม่ได้มาจากการยอมรับของคนทั้งประเทศ คนแค่ครึ่งประเทศมันก็ได้เป็น สส. แล้ว
ประการที่ ๒. บรรดาคนมีความรู้ คนดัง อยากลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่มีพื้นที่ ไม่มีคะแนน ก็ให้มาลงบัญชีรายชื่อ พรรคก็เอามาอวดกันว่าจะเอาใครบ้างแล้วก็ได้ LIST ไป
                บัญชีรายชื่อใน LIST นี้ข้าพเจ้าเห็นว่า เหมาะสมกับพรรคใหญ่ๆ เท่านั้น การกาให้กับพรรคเล็กๆ มันไม่มีโอกาส จริงอยู่แม้จาก ๘๐ เป็น๑๒๕ (๘ คูณ ๑๐ = ๘๐) ภาษาอังกฤษเรียกการแบ่งกลุ่มแบบนี้ว่า ZONE LIST ซึ่งไม่เท่ากับ NATION LIST ข้าพเจ้าเห็นว่า แบ่งไม่ถูกต้องเพราะประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวต้องใช้ NATION LIST
(ข้อสอบประมวลผล คำถาม รูปแบบของรัฐมีผลอย่างไรต่อการจัดการเลือกตั้ง
คำตอบ = รูปแบบของรัฐมันสะท้อนต่อการจัดการเลือกตั้ง รัฐเดี่ยวต้องเป็น NATION LIST รัฐรวมต้องเป็น ZONE LIST)
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแล้วจาก ๘๐ เป็น ๑๒๕ และเป็น NATION LIST และควรเอาที่พูดว่า ๕% ออก ถ้าได้ไม่ถึง ๕% ของคนมาเลือกตั้งพรรคนั้นก็จะไม่นำมานับคะแนน ต้องเอา ๕% ออก ทำแบบนี้พรรคเล็กจะแย่ พรรคเล็กแย่เมื่อใดระบบรัฐสภาก็แย่ตาม หัวใจของการเลือกตั้งคือพรรคการเมือง พรรคการเมืองเป็นหัวใจของระบบรัฐสภา พรรคการเมืองคือยานพาหนะของผู้แทนราษฎรในการเข้าสู่อำนาจรัฐ
                บทบาทของพรรคการเมืองในประเทศใช้ระบบรัฐสภา มีบทบาทมากกว่าพรรคการเมืองที่อยู่ในประเทศระบบประธานาธิบดี พรรคการเมืองของระบบประธานาธิบดีเป็นแค่ที่อาศัยของท่านประธานาธิบดีเวลาสมัครรับเลือกตั้ง ทันทีที่ ฯพณฯ ท่านได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็หันหลังให้กับพรรค ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้นเลย แต่ระบบรัฐสภานั้น พรรคการเมืองคือยานพาหนะของผู้แทนราษฎรในการเข้าสู่อำนาจรัฐ หรือเข้าสู่สภา และโดยระบบนี้คนที่จะเป็นฝ่ายบริหารต้องมาจากสภาจะเป็นคนนอกไม่ได้ ระบบรัฐสภานี้เป็นระบอบที่ประชาชนเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วฝ่ายนิติบัญญัติไปเลือกฝ่ายบริหาร รัฐบาลจะบริหารงานอยู่ได้ตราบเท่าที่สภานิติบัญญัติให้ความไว้วางใจ ตรงนี้คือหัวใจการเมืองของระบบรัฐสภาเพราะฉะนั้น พรรคการเมืองจึงมีบทบาทมาก กฎหมายพรรคการเมืองจึงมีความสำคัญ ถ้าหากว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ดี กฎหมายพรรคการเมืองก็เป็นเช่นกัน

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
มีที่มา ๒ ประเภท ตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ปัจจุบัน และไม่ได้เปลี่ยนใหม่ สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน ๑๕๐ คน มาจากการเลือกตั้ง ๗๖ คน จากการสรรหาหรือแต่งตั้ง ๗๔ คน กลุ่ม ๗๔ คน ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง ข้าพเจ้าเห็นว่า คนในมาตรา ๑๑๓ คือคน ๗ คน มีสิทธิเลือกคนได้ตั้ง ๗๔ คน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขึ้นต้นประการแรกเลยว่า ที่มาของสมาชิกนิติบัญญัติไม่ควรให้มาจากการแต่งตั้ง จากพฤฒิสภาสู่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็วกกลับไปเหมือนเดิมอีก คือ แต่งตั้งอีก (งาช้างไม่ควรงอกออกมาจากปากหมากล่าวคือถ้าเราต้องการนักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ แต่ประชาธิปไตยบ้าอะไรมาจากการแต่งตั้ง) เพราะฉะนั้น ที่มาประการแรกของสว.ที่มาจากการสรรหาหรือเท่ากับการแต่งตั้ง นั้นไม่ถูกต้อง เห็นว่า ควรมาจากการเลือกตั้ง แล้วจำนวนมากน้อยเท่าใดก็สะท้อนตามจำนวนประชากรไป
มาตรา ๑๖๔ เป็นการที่ประชาชนมีสิทธิในการเข้าชื่อถอดถอนได้แล้วคนก็ไม่เข้าใจคิดว่ามาตรา ๑๖๔ เป็นการ RECALL
IMPEACH MENT คือระบบการตรวจสอบประธานาธิบดี คือในกรณีทรยศร้ายแรง กระทำผิดต่อกฎหมายอาญา ซึ่งขอย้ำว่า IMPEACH MENT ไม่ใช่เครื่องมือที่ฝ่ายนิติบัญญัติเอาไว้เล่นงานฝ่ายบริหาร
สรุป ระบบประธานาธิบดีไม่ได้ใช้ IMPEACH MENT ควบคุมประธานาธิบดี เนื่องจากไม่มีอะไรจะควบคุมก็เลยไร้เทียมทาน คือ IMPEACH MENT ไม่ได้ออกแบบให้ควบคุม แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในระบบรัฐสภาเป็นการควบคุมฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฉะนั้น วงกลมสามวงในระบบประธานาธิบดีจึงแยกกันเพราะมีการแบ่งแยกอำนาจ (SAPARATION POWER) แต่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (CHECK AND BALANCE POWER)
                แต่ระบบรัฐสภาของไทยเรา เป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร (CHECK AND BALANCE POWER) ซึ่งต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกับการยุบสภา
มาตรา ๑๖๔ การที่ประชาชนสามารถถอดถอนได้ หรือที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนแล้วจะไปนึกว่ามันเหมือนกับ RECALL ซึ่ง RECALL เป็นกรณีของอเมริกา หมายถึงประชาชนสามารถเข้าเต็นท์ถอดถอนผู้บริหารได้ แต่ RECALL ไม่ได้ใช้กับประธานาธิบดี เขาใช้กับผู้ว่าการรัฐ นายกเทศมนตรี นักการเมืองระดับสูง แต่ไม่ใช่ประธานาธิบดี เพราะฉะนั้น ประเทศไทย ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมี RECALL ในองค์กรส่วนท้องถิ่นก็มีอยู่แล้ว ตาม พรบ.ว่าด้วยการถอดถอนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ RECALL จะนำมาใช้กับการเมืองระดับชาติไม่ได้ ถ้าใช้กับการเมืองท้องถิ่นใช้ได้เพราะท้องถิ่นเป็นระบบประธานาธิบดี เมื่อเราเลือกได้เราก็เอาออกได้ แต่เราไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรี เราเลือกสภา แล้วสภาเป็นคนเลือกรัฐบาล เพราะฉะนั้น เราจะไป RECALL การเมืองระดับชาติไม่ได้ (เริ่มที่ประชาชนแต่ปลายอยู่ที่วุฒิสภา เราจึงนำ RECALL มาใช้กับการเมืองระบบรัฐสภาไม่ได้)

(ไม่ใช่การเก็งข้อสอบ,แต่น่าจะเป็นตัวประกอบที่ดีได้)

ขอขอบคุณพี่ปัญญา  ที่จัดส่งข้อมูลให้ครับ

แนวทางข้อสอบ วิชา LA 741 ศูนย์ขอนแก่น

สเตปการตอบข้อสอบของอาจารย์สถาพร
                   โดย  คุณตุ๊กตา ( ศูนย์ขอนแก่น)
                ขอขอบคุณน้องนพที่จัดส่งขอมูลให้ขึ้นบล็อก

ประเด็นที่หนึ่ง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 4 (จำไว้ว่าคุ้มครองทุกคนทุกเชื้อชาติที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยค่ะ)
โดยหลัก บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียม
กัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ ตามมาตรา 30
(ข้อสอบจะถามในส่วนนี้โดยให้ปัญหาตุ๊กตาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง...................แล้วจะถามต่อว่าบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัตินั้นมีสิทธิตามใช้หลักประกันทางศาล ตาม.28 ว.2 หรือไม่)
                แน่นอนตอบต้องฟังธงเลยว่า บุคคลนั้นถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐเพราะถ้าไม่ถูกละเมิด ตามม.28 ว.2 แล้วก็จบไม่สามารถต่อได้ ซึ่งตามวิสัยของอ.จะอยากให้เราแสดงความรู้ที่เรียนมามากกว่านี้ 
ตอบว่า โดยหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อม
ได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 4 คุ้มครองทุกคนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง.....ตามมาตรา 30 เขาจึงเป็นบุคคลที่ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพจากอำนาจรัฐ ที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ และสามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ ตามมาตรา 28 วรรค 2
                มาตรา 28 ว.2  ศาลดังกล่าว  คือทุกศาลแล้วแต่คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใด แต่ส่วนมากจะเป็นศาลปกครอง เพราะผู้ใช้อำนาจรัฐ  คือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครอง ออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองหรือการกระทำทางปกครองหรือสัญญาทางปกครอง แล้วกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ออกคำสั่งทางปกครองให้เจ้าหน้าที่เอาประกาศปิดหน้าวัดอิสลาม มีข้อความห้ามคนที่นับถือศาสนาพุทธเข้าไปเที่ยวเยี่ยมชมในวัด พอคนนับถือศาสนาพุทธจะเข้าไปก็ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าไปและให้ชี้ดูประกาศที่ติดดังกล่าว กรณีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามม.9 พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บุคคลที่ถูกละเมิดนั้นสามารถใช้สิทธิทางศาลโดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
สรุป ม.4+ม.30+ม.28 ว.2+พรบ.จัดตั้งศาลปกครอง ม.9

ประเด็นที่สอง คำถามจะถามว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของนาย ก. (สมมติ) เป็นปฏิปักษ์ต่อ
รัฐธรรมนูญหรือไม่ (คำถามอาจจะถามถึงประเทศเยอรมัน และให้เราเป็นศาลเยอรมันจะตัดสินว่าอย่างไร เนื่องจากประเทศไทยนำกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของประเทศเยอรมันมาใช้ เราก็นำหลักกฎหมายไทยปรับใช้ค่ะเพราะมันก็คือหลักกฎหมายของเยอรมัน
                ตอบ โดยหลักบุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิทางศาลและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่งการกระทำที่เป็นกรณีปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การกระทำที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรา 1 หรือ มาตรา 2
                กรณีที่ 1. การกระทำที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจากราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแล้วเขาไปแบ่งแยก เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ
                กรณีที่ 2. กระทำการอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามมาตรา 2 เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ
                 สมมติว่า  ผู้สมัครรับเลือกตั้งขึ้นปราศรัยบอกกล่าวแนะนำกับประชาชนว่าในการปกครอง
ส่วนภูมิภาคผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ว่าฯ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยหลักต้องมาจากระทรวงมหาดไทย การเสนอแนวคิดนโยบายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ตามมาตรา 2
                - ผู้สมัครรับเลือกตั้งกล่าวเสนอนโยบายของตนว่าถ้าได้เป็นแล้วจะได้มีการผลักดันร่าง
กฎหมายในเรื่องหนึ่งเรื่องใดต่อไปและรวมไปถึงแนะนำประชาชนอย่าไปเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่มีผลเกิดผลทางการเมือง คำว่า อย่าไปเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ถือว่ามีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามมาตรา 2 เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ

                ประเด็นที่ 3. กรณีตามปัญหาศาลปกครองเห็นว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยตรงได้หรือไม่?
แนวคำตอบ โดยหลัก ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ต้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา 199  กรณีตามปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลปกครอง ตามมาตรา 245 (1) หรือ (2) จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 199 ไม่ได้ อีกทั้ง ศาลอื่น ตามมาตรา 199 นั้นหมายถึงศาลที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคตเช่นศาลเลือกตั้ง ศาลจราจร เป็นต้น ไม่ได้หมายความถึงศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา 199 พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดไม่ได้
ทั้ง จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 214 ก็ไม่ได้ เพราะมาตรา 214 โดยหลัก กรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มิใช่ศาลตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ดังนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 214 บัญญัติว่า ต้องมิใช่ศาล จึงส่งเรื่องพิพาทให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ตามมาตรา 214 ไม่ได้  ข้าพเจ้าเห็นว่า ศาลปกครองต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา
               
                ประเด็นที่ 4. คำถามจะเป็นในส่วนขั้นตอนการนำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง ต้องพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หากไม่พอใจในคำสั่ง ต้องทำตามขั้นตอนคือต้องอุทธรณ์ต่อผู้ออกคำสั่งก่อนหรือไม่ (ตามม.42 ว.2 พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542)
                ถ้าต้องอุทธรณ์ก่อนก็อุทธรณ์ภายในเวลาที่กำหนดในคำสั่ง แต่ถ้าในคำสั่งไม่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ก็สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 1 ปี นับแต่ออกคำสั่ง หากอุทธรณ์แล้ว ก็มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนยันคำสั่งเดิม ก็นำคดีฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 9 พรบ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 เพื่อให้ศาลปกครองมีคำบังคับเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น ตามมาตรา 72 พรบ.เดียวกัน)
แต่ คำสั่งของกกต. ที่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสส. หรือ สว. ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยหลักคำสั่งทางปกครองและเป็นคำสั่งที่ กกต.มีอำนาจใช้ดุลพินิจเบ็ดเสร็จ คือเป็นที่สุด ตามมาตรา 239 แห่งรัฐธรรมนูญ หากผู้ได้รับคำสั่งไม่พอใจอุทธรณ์ไม่ได้
                บุคคลซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิตามคำสั่งของ กกต. ดังกล่าวเป็นผู้ถูกละเมิดโดยการใช้อำนาจรัฐสามารถใช้สิทธิทางศาล ตามมาตรา 28 ว.2 ได้หรือไม่
                ตอบใช้สิทธิทางศาลได้ (แล้วฟ้องศาลไหน ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง)

ปล. ไม่ใช่ธงคำตอบนะครับ เอาไว้ดูเผื่อกำลังว่าเราจะอ่านอะไรไปตอบดี เอามาลงไว้เผื่อคนยังไม่เคยเห็น ใครเคยอ่านแล้วก็ขออภัยด้วยนะครับ...
                                                         ขอขอบคุณน้องนพ  ที่จัดส่งข้อมูลให้ขึ้นบล็อกครับ