บทความใน Blog นี้ เป็นบทความที่รวบรวมมาจากสาขาวิทยบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง จาก Website ต่าง ๆ และจัดทำขึ้นเอง เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า(ต้องขออภัยที่ไม่ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ) คำบรรยายของอาจารย์ทุกท่านอาจจะมีข้อหรือคำผิดพลาด อันเนื่องมาจากการพิมพ์และการตีความของผู้พิมพ์และผู้เรียบเรียงได้ ขอให้ผู้ศึกษาโปรดใช้วิจารณญาณ ขอขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน พร้อมอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และคุณธรรมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตา

3 มิถุนายน 2554

สรุปแนวข้อสอบนิติกรรมลอย


 เอกสารเตรียมสอบเรื่อง นิติกรรมลอย

โดย จ.อ.นิคม  เภาพาน

หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต

 


     1. สรุปนิติกรรมลอย  

หลักกฎหมายที่ใช้อธิบายปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ได้ตกลงซื้อขายกันจะผ่านมือไป

ยังผู้ซื้อเมื่อใดแตกต่างกันออกไป   กล่าวคือระบบคอมมอนลอว์ (เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์)  มีหลักว่า ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไปทันทีที่สัญญาซื้อขายสำเร็จลง  ส่วนประเทศอื่นๆ  นอกจากจะมีสัญญาซื้อขายแล้ว  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกันจะโอนไปยังผู้ซื้อก็ต่อเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบทรัพย์นั้นแก่ผู้ซื้อ  หรือได้กระทำการอื่นใดที่มีผลเท่ากับการส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว

          แต่สำหรับประเทศเยอรมันมีข้อกำหนดที่เป็นพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก  คือจะต้องมีการตกลงระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนเป็นพิเศษด้วย  โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายกันนั้นโอนจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อด้วย  ข้อตกลงนี้กฎหมายเยอรมันเรียกว่า สัญญาทางทรัพย์  ( Dinglicher  Vertrag)   ซึ่งสัญญาทางทรัพย์มีข้อแตกต่างจากสัญญาซื้อขายหรือสัญญาทางหนี้  เพราะผู้ขายเพียงแต่ผูกพันตนที่จะโอนทรัพย์ที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่ผู้ซื้อ  ส่วนในสัญญาทางทรัพย์  ผู้ขายตกลงโอนทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ   คือผู้ขายปฏิบัติการชำระหนี้ตามความผูกพันที่ทำไว้โดยผู้ขายตกลงกับผู้ซื้อ  ให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์นั้น  และความมีผลของสัญญาซื้อขายหรือสัญญาทางหนี้กับผลของสัญญาทางทรัพย์แยกกันเป็นอิสระจากกัน   จึงเรียกได้ว่า สัญญาลอยทางทรัพย์     (Abstrakter   Dinglicher   Vertrag)  อันเป็นหลักกฎหมายของเยอรมัน

          หลักกฎหมายว่าด้วย  สัญญาลอยทางทรัพย์  กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อได้ทำสัญญา   ทางทรัพย์กับผู้ขายคือตกลงโอนกรรมสิทธิ์และได้รับมอบทรัพย์ที่ซื้อกันนั้นจากผู้ขายแล้ว  ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น  ถึงแม้ว่าสัญญาซื้อขายนั้นจะตกเป็นโมฆะมาแต่แรกหรือสิ้นผลไปเพราะถูกบอกล้างไปภายหลัง  หรือสัญญาซื้อขายนั้นไม่มีผลเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม  ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่าข้อตกลงทางทรัพย์นั้นเป็นข้อตกลงที่  ลอย (Abstrakt)  หรือพรากจากสัญญาซื้อขายที่เป็นมูลเหตุของสัญญาทางทรัพย์นั้น  กล่าวคือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่โอนกันโดยสัญญาทางทรัพย์นั้นย่อมจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ตกลงโอนและส่งมอบแก่กัน  โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า  สัญญาซื้อขายไม่มีผลหรือมีผลมาแต่ต้นแล้วเสียไปภายหลัง  อย่างไรก็ดีแม้ในกรณีที่ผู้ซื้อจะได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น  แต่การได้กรรมสิทธิ์นี้เป็นการได้มาโดยสัญญาที่ไม่มีผล  เรียกได้ว่าเป็นการได้มาโดยปราศจากเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย (Sine  Causa)  ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะยึดถือทรัพย์นั้นไว้เป็นของตัวตลอดไป  และต้องมีหน้าที่คืนทรัพย์นั้นแก่ผู้ขายในฐานะที่ได้กรรมสิทธิ์มานั้นเป็น ลาภมิควรได้  อันเป็นกรณีตามมาตรา 812  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน

          ในระบบกฎหมายของเยอรมัน หลักสัญญาลอยทางทรัพย์นี้มิได้ใช้เฉพาะเรื่องซื้อขายเท่านั้น  แต่ยังใช้กับกรณีสัญญาให้  แลกเปลี่ยน   หรือการโอนทรัพย์แก่เจ้าหนี้เพื่อประกันการกู้ยืม  หรือการโอนทรัพย์ แก่ทรัสตีเพื่อจัดการทรัพย์ด้วย  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้มีนิติกรรม 2 ประเภท  มาเกี่ยวข้อง   กล่าวคือ  นิติกรรมที่เป็นมูล  หรือ  นิติกรรมที่เป็นเหตุ อันได้แก่สัญญาทางหนี้  เช่น สัญญาซื้อขาย  สัญญาให้  สัญญาค้ำประกัน   หรือสัญญาตั้งทรัสต์    กับอีกประเภทหนึ่งคือ  นิติกรรมที่ทำให้สัญญาสำเร็จผล หรือ  นิติกรรมที่เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้  อันได้แก่การโอนทรัพย์ ให้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาที่เป็นมูล  ทีนี้ถ้าหากปรากฎว่านิติกรรมที่เป็นมูลนั้นตกเป็นโมฆะ  นิติกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ นิติกรรมที่ทำให้สัญญาสำเร็จผล ก็อาจมีผลสมบูรณ์ได้  เพราะนิติกรรมประเภทหลังนี้เป็น นิติกรรมลอย แยกจากนิติกรรมที่เป็นมูลและด้วยเหตุนี้  ผู้ซื้อ   หรือผู้รับให้  หรือเจ้าหนี้  หรือผู้รับสัญญาค้ำประกัน   หรือทรัสตีผู้รับโอนทรัพย์ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่โอนมาโดยบริบูรณ์ 

          กล่าวโดยสรุป สัญญาลอยทางทรัพย์  หรือ นิติกรรมลอย  เป็นหลักกฎหมายของเยอรมันที่อธิบายว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่โอนกันโดย  สัญญาทางทรัพย์ หรือนิติกรรมที่เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ นั้นย่อมจะโอนไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับโอนแล้วตั้งแต่ตกลงโอนและส่งมอบแก่กัน  โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า  สัญญาทางหนี้หรือ นิติกรรมที่เป็นมูล   ไม่มีผลหรือมีผลมาแต่ต้นแล้วเสียไปภายหลัง  อย่างไรก็ดีแม้จะได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น  แต่การได้กรรมสิทธิ์มาโดยสัญญาที่ไม่มีผล  ปราศจากเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่ควรมีสิทธิ์ที่จะยึดถือทรัพย์นั้นไว้  และต้องมีหน้าที่คืนทรัพย์นั้น  คำว่า นิติกรรมลอย  เป็นการบัญญัติศัพท์ โดย ดร.หยุด  แสงอุทัย



          2. สรุปความแตกต่างของระบบสัญญาเดี่ยวและสัญญาคู่

          ในการทำสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์  สัญญาให้  แลกเปลี่ยน   หรือการโอนทรัพย์แก่เจ้าหนี้เพื่อประกันการกู้ยืม  หรือการโอนทรัพย์ แก่ทรัสตีเพื่อจัดการทรัพย์  กฎหมายแพ่งเยอรมันได้แยกนิติกรรมออกเป็นสองประเภท คือนิติกรรมที่เป็นมูล  หรือ  นิติกรรมที่เป็นเหตุ หรือที่เรียกว่า สัญญาทางหนี้  กับ นิติกรรมที่ทำให้สัญญาสำเร็จผล หรือ  นิติกรรมที่เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้หรือที่เรียกว่า  สัญญาทางทรัพย์ซึ่งเรียกว่า  ระบบสองสัญญาหรือสัญญาคู่  ซึ่งต่างจากฎหมายของไทย  ฝรั่งเศส  และคอมมอนลอว์  ซึ่งนำการกำหนดในการแสดงเจตนาว่าสมบูรณ์หรือไม่  มาเป็นตัวกำหนดการเกิดสัญญาซึ่งจะมีเพียงสัญญาเดียวเท่านั้น เรียกว่า ระบบสัญญาเดี่ยว

          2.1 การเกิดสัญญา

          ในระบบสัญญาคู่  เมื่อได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาทางหนี้แล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังไม่โอนไปยังผู้รับโอนหรือผู้ซื้อ  จนกว่าคู่สัญญาจะต้องทำสัญญาทางทรัพย์อีกสัญญาหนึ่งและมีการส่งมอบตัวทรัพย์  กรรมสิทธิ์ถึงจะโอนไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับโอน ซึ่งแตกต่างจากระบบสัญญาเดี่ยว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ซื้อขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขาย  กล่าวคือ ล่าวคือารอันใดอันหนึ่งขึ้นอันพึ่งสันิษบานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ  กฎหมายไทยสัญญาเกิดเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้นอันพึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ กฎหมายฝรั่งเศสสัญญาเกิดเมื่อผู้เสนอรับทราบคำสนอง โดยพิจารณาจากคำสนองมาถึงภูมิลำเนาของผู้เสนอถือว่าสัญญาเกิด   กฎหมายคอมมอนลอว์ สัญญาเกิดทันทีที่ส่งจดหมาย  แม้ผู้เสนอจะยังไม่ทราบคำเสนอแม้กระทั่งคำสนองจะหายไปในระหว่างทาง   



          2.2 การเรียกคืนทรัพย์เมื่อนิติกรรมตกเป็นโมฆะ

                   ในระบบสัญญาคู่ หากปรากฏว่าสัญญาซื้อขายหรือสัญญาทางหนี้อันเป็นมูลของการโอนทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์ เพราะตกเป็นโมฆะด้วยเหตุที่นิติกรรมนั้นไม่ถูกต้องตามแบบ หรือต้องห้ามโดยบทบัญญัติของกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือด้วยเหตุที่คู่กรณีมิได้มีเจตนาต้องตรงกัน หรือสัญญานั้นตกเป็นโมฆียะ (เพราะเหตุสำคัญผิดฉ้อฉล หรือข่มขู่) และถูกบอกล้างไปภายหลัง  ตามหลักว่าด้วย สัญญาลอยทางทรัพย์นั้นกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือในตัวเงินที่โอนกันย่อมจะโอนไปยังคู่กรณีแล้ว  ดังนั้นผู้โอนย่อมไม่อาจอ้างหลักกรรมสิทธิ์มาเป็นฐานในการเรียกทรัพย์คืนได้ต่อไป  จึงได้แต่เรียกให้ผู้รับโอนคืนทรัพย์ โดยอาศัยหลักว่าผู้รับโอนได้ทรัพย์นั้นไป โดยปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย คือได้ทรัพย์ไปในฐานะเป็นลาภมิควรได้ และผู้รับโอนย่อมจะต้องคืนทรัพย์นั้นแก่ผู้โอน จึงสรุปว่าสิทธิเรียกให้ผู้รับโอนคืนทรัพย์สินที่ได้รับโอนไปตามสัญญาที่ไม่สมบูรณ์ย่อมไม่ใช่สิทธิเรียกร้องทางทรัพย์ ไม่ใช่การเรียกทรัพย์คืนโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ตามมาตรา 985 ป. แพ่งเยอรมัน  ผู้โอนคงมีแต่สิทธิเรียกร้องทางหนี้ต่อผู้รับโอน ในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้รับโอนคืนทรัพย์แก่ตนตามหลักว่าด้วยลาภมิควรได้ (มาตรา812 ฯ ป.แพ่งเยอรมัน) เท่านั้น   ซึ่งแตกต่างจากระบบสัญญาเดี่ยว  กล่าวคือการทำสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาทางหนี้ มีผลทำให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาทางหนี้กัน   โดยไม่ต้องไปทำสัญญาอะไรกันอีก  และหากสัญญาในทางหนี้ตกเป็นโมฆะ เพราะเหตุมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งด้วยกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี  ถือว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ยังอยู่ที่เจ้าของ  สามารถติดตามเอาคืนได้ตามหลักกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ของไทย

2.3 การโอนทรัพย์ไปยังบุคคลที่สาม  

       ในระบบสัญญาคู่ ประกอบด้วยสัญญาทางหนี้ และสัญญาทางทรัพย์ ในการโอนทรัพย์ไปยังบุคคลที่สาม  หากสัญญาทางหนี้ระหว่างผู้รับโอน(ผู้ซื้อ) กับบุคคลที่สามสมบูรณ์ และสัญญาทางทรัพย์มีการส่งมอบทรัพย์  กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังบุคคลที่สามทันที  ผู้ขายหรือผู้โอนจะไปฟ้องเอาคืนจากบุคคลที่สามไม่ได้   ซึ่งจะแตกต่างจากระบบสัญญาเดี่ยว โดยยึดหลักกฎหมายทั่วไป  หลักว่า  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนหากสัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ   ถือว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ยังอยู่กับเจ้าของทรัพย์ เมื่อผู้ซื้อไม่มีกรรมสิทธิ์  บุคคลที่สามย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ดีกว่า  ผู้ขายสามารถติดตามเอาทรัพย์คืนจากบุคคลที่สามได้ตามหลักกรรมสิทธิ์   ตาม ปพพ. มาตรา 1336



 ปล.เป็นแนวทางงในการสอบเท่านั้นครับบบบ


                                                                  

                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มุมสำหรับเพื่อน ๆ แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน เติมเต็ม ติชม และแซว